-----------------------------------------------------------------------
ศุกร์ 24 ส.ค.2555--กลุ่มธนาคารพาณิชย์ :
ที่มา : Industry Focus : บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส

ปี 56 สินเชื่อ Corporate และ SME หนุนการเติบโต
   * ในปี 56 คาดว่าสินเชื่อ Corporate และ SME หนุนการเติบโตของธนาคาร ทั้งนี้ใน 2Q55 สินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เติบโต 2.9%QoQ (+12.8%YoY) นำโดยการเติบโตของสินเชื่อเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์, ที่พักอาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ DBSV จึงปรับขึ้นคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อปีนี้ขึ้นเป็น 13.6% จากเดิม 12.4% นำโดยการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภค 21% และการขยายตัวของสินเชื่อ Corporate 11% ส่วนปี 56 เราคาดว่าความต้องการใช้สินเชื่อ Corporate และ SME ยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นช่วงลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศที่เติบโต, การใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน แต่สินเชื่อเพื่อการบริโภคจะอ่อนลงหลังจากจบโครงการบ้านหลังแรกและรถคันแรกไปแล้ว เราประมาณการว่าสินเชื่อในปี 56 จะขยายตัว 11.2% โดยสินเชื่อ Corporate และ SME เติบโต 12% และสินเชื่อพื่อการบริโภคขยายตัว 10%
   * ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 56 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเติบโต 20% โดยเป็นผลจาก 1) สินเชื่อขยายตัว 11.2%, 2) รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 10.4%, 3) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ขยับขึ้น 3 bsp และ 4) อัตราภาษีรายได้ฯ ลดลงเป็น 20% ด้าน ROE คาดว่าจะเพิ่มเป็น 17% ในปี 56 จาก 16.4% ในปี 55 ความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์น้อยลงตาม NPL ที่ต่ำลงใน 2H55 เราประมาณการว่า NPL ratio ของกลุ่มจะลดลงเป็น 2.6% ในปี 56 จาก 3.0% ในปี 55
   * ปรับราคาพื้นฐานไปอิงกับ P/BV ของปี 56 เราปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 55 ขึ้น 2.3% เป็น 1.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.4% สะท้อนผลประกอบการ 2Q55 ที่ดีกว่าคาด รวมทั้งปรับสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อเป็น 13.6% ส่วนในปี 56 คาดว่ากำไรสุทธิจะขยายตัว 20%
     ยังคงให้ KBANK และ BBL เป็นหุ้น Top picks ฝ่ายวิจัยฯ DBSV ยังคงชอบธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะมีงบดุลที่แข็งแกร่ง และได้รับประโยชน์จากโมเมนตัมการลงทุนที่เป็นบวกในปี 56 โดย KBANK มีจุดเด่นที่เป็นผู้นำในลูกค้า SME, คุณภาพสินทรัพย์ดีมาก มี NPL ratio ต่ำที่สุดในกลุ่ม, NIM สูง และรายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวสูงสุดในแบงค์ใหญ่ ด้าน BBL เป็นผู้นำในลูกค้า Corporate และ SME โดยมีงบดุลแข็งแรงมาก เงินกองทุนสูงและมี NPL coverage ratio สูงที่สุดในกลุ่ม นอกจากนั้นยังแนะนำซื้อ KTB และ SCB แต่แนะนำถือ BAY, TCAP และ TISCO เนื่องจากคาดว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภคจะเติบโตชะลอลงในปี 56

BAY                 คำแนะนำ ถือ
ราคาปิด 31.25 บาท    ราคาพื้นฐาน 33 บาท (เดิม 29 บาท)
กลับมาเติบโตจากภายใน

   * ธนาคารกลับมาเติบโตจากภายในหลังเข้าซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อย HSBC สินเชื่อ 2Q55 เติบโต 2.1%QoQ (+12.9%YoY) นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวสูง 7%QoQ เพราะยอดขายรถยนต์ใน 2Q55 ขยายตัวสูง 69%YoY จาก 16%YoY ใน 1Q55 เราคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อในปี 55 จะขยายตัวสูงเพราะคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศขยายตัวถึง 51% ธนาคารมีการเติบโตของสินเชื่อสูงใน 1H55 หลังรวมสินเชื่อรายย่อยของ HSBC เข้ามา แต่คาดว่าสินเชื่อเฉพาะแบงค์ใน 2H55 จะอ่อนลง ประมาณการว่าสินเชื่อปี 55 จะขยายตัว 11.5% ตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ และเติบโต 10% ในปี 56
   * คาดการณ์กำไรสุทธิปี 55 ขยายตัวสูง 54% โดยมีสมมติฐานว่า 1) สินเชื่อเติบโต 11.5%, 2) รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 15%, 3) ตั้งสำรองค่าเผื่อฯลดลงเป็น 1.40% ของสินเชื่อรวม จาก 1.70% ในปี 54 และ 4) ไม่มีการปรับปรุงรายการภาษีรายได้ค้างจ่าย อย่างไรก็ตาม คาดว่า NIM จะลดลง 12 bps เพราะต้นทุนการเงินสูงขึ้นจากการนำส่งค่าธรรมเนียมคุ้มครองเงินฝากให้กับ DPA มากขึ้น ธนาคารมีแผนที่จะขาย NPL อีก 2-3 พันล้านบาทใน 3Q55 ซึ่งจะทำให้ NPL ลดลงเป็น 22 พันล้านบาท จาก 29.5 พันล้านบาทในสิ้นปี 54
   * แนะนำถือ โดยธนาคารได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลและการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในปีนี้ แต่ข่าวดีได้สะท้อนในราคาหุ้นไปแล้ว ฝ่ายวิจัยฯ DBSV ประเมินราคาตามพื้นฐาน BAY ไว้ที่ 33 บาท โดยเลื่อนไปอิงกับ P/BV ปี 56 ที่ 1.6 เท่า

BBL                 คำแนะนำ ซื้อ
ราคาปิด 196 บาท      ราคาพื้นฐาน 245 บาท (เดิม 220 บาท)
เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

   * คาดสินเชื่อ Corporate หนุนการเติบโตในปี 56 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปี 56 อยู่ในช่วงของการลงทุน และรัฐบาลมีแผนใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้คาดว่าสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจะเติบโตสูง และ BBL จะได้รับประโยชน์จากความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนระยะยาวและสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง, ส่งออก และธุรกิจเกษตร และทางธนาคารมีแผนที่จะเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อย ทั้งที่เป็นสินเชื่อที่พักอาศัย และธุรกิจบัตรเครดิต เราคาดว่าสินเชื่อในปี 56 จะขยายตัวได้ 11% จากการเติบโตของสินเชื่อ Corporate 12%, SME 10%, ต่างประเทศ 8% และรายย่อย 15%
   * กำไรสุทธิปี 56 คาดว่าจะเติบโตสูง 18% โดยเป็นผลจากสมมติฐาน 1) สินเชื่อขยายตัว 11%, 2) NIM ทรงตัวที่ 2.56%, 3) ตั้งสำรองค่าเผื่อฯ 6.4 พันล้านบาท, 4) รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 11%, 5) อัตราภาษีรายได้ฯ ลดลงเป็น 20% ธนาคารมีสำรองส่วนเกินจากที่ธปท.กำหนดถึง 48 พันล้านบาท ซึ่งรองรับการเพิ่มขึ้นของ NPL ได้ และมี NPL coverage ratio สูงถึง 187% ในสิ้น 2Q55 ด้าน CAR เท่ากับ 14.8% โดยเป็นขั้นที่ 1 สูงถึง 11.7% ซึ่งเงินกองทุนดังกล่าวเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของธุรกิจไปในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องเพิ่มทุน
   * แนะนำซื้อ โดยให้ BBL เป็นหนึ่งในหุ้น Top Pick กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะมีเครือข่ายกว้างขวาง, มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า Corporate ซึ่งจะหนุนการเติบโตในระยะยาว ให้ราคาพื้นฐาน 245 บาท โดยเลื่อนไปอิงกับ P/BV ปี 56 ที่ 1.6 เท่า

KBANK               คำแนะนำ ซื้อ
ราคาปิด 172.50 บาท   ราคาพื้นฐาน 216 บาท (เดิม 190 บาท)
รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวแกร่ง

   * สินเชื่อ Corporate และ SME ผลักดันการเติบโต ธนาคารยืนยันเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อปี 55 ไว้ที่ 9-11% หนุนโดยการลงทุนระยะยาวเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรม และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ธนาคารมีแผนเพิ่มอัตราการเติบโตของสินเชื่อใน 14 จังหวัดขนาดใหญ่ช่วง 2H55 ผ่านการทำการตลาดของ K-Group ยังผลให้คาดว่าสินเชื่อใน 2H55 จะเติบโตในอัตราที่สูงกว่า 1H55 เราประมาณการว่าสินเชื่อปี 55 จะจะขยายตัวได้ 12% และเติบโตต่อ 11% ในปี 56 นำโดยสินเชื่อ SME (+9%), สินเชื่อ Corporate (+11%) และสินเชื่อรายย่อย (+18%)
   * รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตแข็งแกร่ง ฝ่ายวิจัยฯ DBSV คาดว่ากำไรสุทธิปี 56 ของ KBANK จะเติบโตสูงถึง 21% เนื่องจาก 1) การขยายตัวของสินเชื่อ 11%, 2) NIM ทรงตัวที่ 3.6%, 3) รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตสูง 12%, 4) ตั้งสำรองค่าเผื่อฯ ลดลงเป็น 7.2 พันล้านบาท และ 5) อัตราภาษีรายได้ฯ ลดลงเป็น 20% ซึ่งกำไรที่เติบโตสูงทำให้ ROE ในปี 56 จะเพิ่มขึ้นเป็น 21% จาก 17% ในปี 54
   * แนะนำซื้อ โดย KBANK เป็นหนึ่งในหุ้น Top Pick ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะมีการขยายตัวของสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมแข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ดีมาก โดยมี NPL ratio ต่ำที่สุดในกลุ่ม และมีฐานลูกค้า SME ที่แข็งแรง ประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 216 บาท โดยเลื่อนไปอิงกับ P/BV ปี 56 เท่ากับ 2.3 เท่า 

KTB                 คำแนะนำ ซื้อ
ราคาปิด 17.80 บาท    ราคาพื้นฐาน 20.50 บาท (หลังเพิ่มทุน)
ได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐ

   * ได้ประโยชน์จากโครงการภาครัฐ เราคาดว่าสินเชื่อภาครัฐที่คิดเป็น 17% ของสินเชื่อรวมจะเติบโตสูงในปี 55-56 ซึ่งเป็นไปตามการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำ ประมาณการอัตราการขยายตัวของสินเชื่อปี 55-56 ไว้ที่ 13% และ 11% ตามลำดับ การเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 35 พันล้านบาท ทำให้ KTB ยังคงเป็นธนาคารรัฐ และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำจากฐานลูกค้าที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
   * Overhang หายไปและเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงแข็งแกร่ง การเพิ่มทุนครั้งนี้ทำให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นจาก 7.92% เป็น 10.25% และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมสูงขึ้นจาก 12.91% เป็น 15.25% โดยเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นทำให้ธนาคารสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น และสามารถตั้งสำรองค่าเผื่อฯ เพิ่มขึ้นได้ สำหรับ Dilution effect จากการเพิ่มทุนเท่ากับ 20% อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรสุทธิปี 56 จะขยายตัวได้ดี 23% เนื่องจากสินเชื่อเติบโต 11%, NIM ทรงตัวที่ 2.87%, รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 10%, ตั้งสำรองค่าเผื่อฯ 6.4 พันล้านบาท และอัตราภาษีรายได้ฯ ลดลงเป็น 20%
   * แนะนำซื้อ โดยคาดว่าหลังเพิ่มทุนธนาคารจะดำเนินธุรกิจได้อย่าง Aggressive มากขึ้น เพราะมีฐานเงินกองทุนเพิ่มและการที่ยังคงเป็นธนาคารรัฐทำให้มีโอกาสเติบโตจากโครงการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐอีกมาก ประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 20.50 บาท (หลังเพิ่มทุน) โดยอิงกับ P/BV ปี 56 ที่ 1.4 เท่า

SCB                 คำแนะนำ ซื้อ
ราคาปิด 154 บาท      ราคาพื้นฐาน 185 บาท (เดิม 170 บาท)
ตั้งเป้าบินสูงขึ้น

   * เน้นสินเชื่อ SME และเช่าซื้อ สินเชื่อใน 2Q55 เติบโตแกร่งถึง 20%YoY และธนาคารปรับเพิ่มเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้เป็น 17-19% (จากเดิม 12-14%) โดยเน้นสินเชื่อ SME และรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ สำหรับสินเชื่อ Corporate ที่เติบโตสูงในปี 54 จะขยายตัวน้อยลงในปีนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ เราปรับเพิ่มสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อปีนี้เป็น 18.5% จากเดิม 15% ส่วนปี 56 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเป็น 13% เพราะคาดว่าสินเชื่อ Corporate และเช่าซื้อรถยนต์จะเติบโตน้อยลง ธนาคารมีเป้าหมายเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการลด NPL ratio ลงเป็น 2.25% ในสิ้นปี 55 จาก 2.61% ในสิ้นปี 54
   * รายได้ค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันเติบโตดี คาดว่ากำไรสุทธิปี 56 จะขยายตัว 19% เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโต 13%, รายได้ค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น 9%, NIM ทรงตัวที่ 3.2%และอัตราภาษีรายได้ฯ ลดลงเป็น 20% สำหรับการตั้งสำรองค่าเผื่อฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 พันล้านบาทต่อไตรมาส (จาก 1.5 พันล้านบาท) หลังจากตั้งสำรองฯพิเศษ 1 พันล้านบาทไปแล้วใน 2Q55 เราคาดว่า ROE จะทรงตัวที่ 21% ในปี 56 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารที่ 18-20%
   * แนะนำซื้อ โดยแนวโน้มของ SCB ยังแข็งแกร่งจากการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาก ฝ่ายวิจัยฯ DBSV ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรสุทธิปี 55-56 ขึ้นปีละ 2% สะท้อนผลประกอบการที่ดีใน 2Q55 และการเติบโตของสินเชื่อที่ดีกว่าคาดการณ์เดิม ประเมินราคาตามพื้นฐานไว้ที่ 185 บาท โดยเลื่อนไปอิงกับ P/BV ปี 56 ที่ 2.5 เท่า

TCAP                คำแนะนำ ถือ
ราคาปิด 34.75 บาท    ราคาพื้นฐาน 37 บาท (เดิม 34.50 บาท)
ตั้งสำรองค่าเผื่อฯสูงขึ้น

   * สินเชื่อปี 56 เติบโตชะลอลง ณ สิ้น 2Q55 เงินกองทุนของ TCAP ลดลงเป็น 12.1% โดยเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 เท่ากับ 8.3% แต่ผู้บริหารยืนยันว่าเงินกองทุนเพียงพอสำหรับการเติบโตในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องเพิ่มทุน แต่เรามองว่าหากไม่มีการเพิ่มเงินกองทุน การเติบโตของสินเชื่อจะจำกัด และ TCAP อาจไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จะนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เราคาดการณ์ว่าสินเชื่อปี 55 จะเติบโต 10% ต่ำกว่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 13.6% และขยายตัว 9% ในปี 56 น้อยกว่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 11.2%
   * ถึงเวลาที่ต้องตั้งสำรองค่าเผื่อฯเพิ่มขึ้น ใน 1H55 ทาง TCAP ตั้งสำรองค่าเผื่อฯเพียง 0.3% ของสินเชื่อรวม ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 0.5% และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 0.64% เราคาดว่า TCAP จะตั้งสำรองค่าเผื่อฯ 0.38% ใน 2H55 และ 0.35% ในปี 56 คาดการณ์กำไรสุทธิปี 56 ขยายตัวเพียง 13% ต่ำกว่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่เราคาดไว้เท่ากับ 20%
   * แนะนำถือ แม้ว่า TCAP จะได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลและการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ที่แข็งแกร่ง แต่การขยายตัวของสินเชื่อทำได้จำกัดเนื่องจากเงินกองทุนขั้นที่ 1 ไม่สูง และการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์สูงมาก ขณะที่ต้นทุนการเงินเพิ่มจากการแข่งขันระดมเงินฝาก เราให้ราคาพื้นฐาน 37 บาท โดยเลื่อนไปอิงกับ P/BV ปี 56 เท่ากับ 1.0 เท่า

TISCO               คำแนะนำ ถือ
ราคาปิด 40.50 บาท    ราคาพื้นฐาน 46.50 บาท (เดิม 45.50 บาท)
สินเชื่อปี 56 เติบโตชะลอลง

   * สินเชื่อเช่าซื้อปี 56 ขยายตัวชะลอลง ใน 2Q55 สินเชื่อธนาคารขยายตัว 8%QoQ (+20%YoY) นำโดยสินเชื่อเช่าซื้อที่เติบโต 6% ซึ่งเป็นผลพวงจากการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศ เราคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 55 จะเติบโต 51% และยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเพราะอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงน้ำท่วมและโครงการรถคันแรกของรัฐบาล ซึ่งทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เติบโตแข็งแกร่ง เราปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของสินเชื่อปีนี้เป็น 17% และ ลดลงเป็น 14% ในปี 56 เพราะการสินเชื่อเช่าซื้อที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยประเมินว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 56 จะทรงตัวหรือขยายตัวไม่มากจากฐานะที่สูงในปีนี้
   * คาดว่ากำไรสุทธิปี 56 จะเติบโตเพียง 6% เนื่องจาก NIM เพิ่มขึ้น 20 bps เป็น 3.2% หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในภาวะทรงตัว และอัตราภาษีรายได้ฯ ลดลงเป็น 20% แต่จะถูกชดเชยไปด้วยการตั้งสำรองค่าเผื่อฯเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 พันล้านบาท การแข่งขันในด้านเงินฝากที่รุนแรงจะกดดัน NIM ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
   * แนะนำถือ โดยคาดว่าแนวโน้มการเติบโตจะอ่อนลงจากการที่สินเชื่อเช่าซื้อถึงจุดสูงสุดในปี 55 และชะลอการเติบโตในปี 56  ประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 46.50 บาท โดยเลื่อนไปอิงกับ P/BV ปี 56 ที่ 1.65 เท่า
-----------------------------------------------------------------------

ศุกร์ 24 ส.ค.2555--Banking :
ที่มา : Analyst Comment : บล.เกียรตินาคิน

Banking        สินเชื่อเติบโตต่อเนื่องในเดือน ก.ค. แต่ชะลอตัวลง
น้ำหนักการลงทุน   Overweight (มากกว่าตลาด)
ประเด็นสำคัญ    

    * กลุ่มธนาคารรายงานแบบแสดงสินทรัพย์และหนี้สินเดือน ก.ค. มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน 0.9%MoM และเติบโตจากสิ้นปี 2554 7.1%YTD
ความเห็นนักวิเคราะห์   
    * สินเชื่อที่เติบโตชะลอลงเนื่องจากมีหลายธนาคารมีสินเชื่อหดตัว ไม่ว่าจะเป็น TMB ที่สินเชื่อหดตัว 1.1%MoM BBL สินเชื่อหดตัว 0.6%MoM และ BAY สินเชื่อหดตัว 0.1%MoM นอกจากนี้สินเชื่อของ KTB ยังโตชะลอลงด้วย โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.9%MoM จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น 1.8%MoM
    * ธนาคารขนาดเล็กสินเชื่อยังขยายตัวเด่น โดยเฉพาะ TISCO ที่ได้ประโยชน์จากยอดขายรถยนต์ที่ทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สินเชื่อของ TISCO เติบโต 3.3%MoM และ TCAP ที่ได้ประโยชน์จากยอดขายรถเช่นเดียวกันก็มีสินเชื่อเติบโต 2.1%MoM ส่วน LHBANK ถึงแม้ว่าในเดือนนี้จะไม่ใช่ธนาคารที่มีสินเขื่อเติบโตมากที่สุด แต่ก็ยังเป็นระดับการเติบโตที่โดดเด่น โดยเพิ่มขึ้นถึง 3.2%MoM เป็นรองเพียง TISCO ธนาคารเดียว
    * SCB และ KBANK สินเชื่อยังโตต่อ  โดย SCB มีสินเชื่อเพิ่ม 1.9%MoM และ  12.2%YTD ส่วน KBANK นั้นมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.3%MoM และ 5.1%YTD
    * เงินฝากก็เพิ่มขึ้นด้วย ในเดือนนี้ทุกธนาคารมีเงินฝากเพิ่มขึ้นทั้งหมด ยกเว้น TMB ธนาคารเดียวที่มีเงินฝากลดลง ทำให้ทั้งกลุ่มมีเงินฝากเพิ่มขึ้น 3.2%MoM จะเห็นว่าเป็นอัตราเพิ่มที่มากกว่าสินเชื่อ เนื่องจากเงินฝากที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งนั้นเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อ แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นเพื่อทดแทนการลดลงของเงินกู้ยืม ซึ่งในไตรมาสนี้ยังคงลดลงต่อเนื่องอีกถึง 18.7%MoM
    * เริ่มมีการประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล เราคาดว่าจะมี 6 ธนาคารที่มีการจ่ายปันผลระหว่างกาล โดยมี 4 ธนาคารประกาศจ่ายไปแล้ว คือ BAY BBL KBANK และ TCAP
ความเห็นนักวิเคราะห์   

    * เลือก BBL KBANK และ TCAP เป็นหุ้น Top pick เรายังคงมองว่าธนาคารขนาดใหญ่จะมีสินเชื่อเติบโตต่อเนื่องจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะมีการเบิกใช้สินเชื่อต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี เราจึงเลือก BBL และ KBANK เป็นหุ้น Top pick โดยเราให้มูลค่าเหมาะสมของ BBL ไว้ที่ 213 บาท ส่วน KBANK ให้มูลค่าเหมาะสม 195 บาท ส่วน TCAP เราคาดว่าจะได้ประโยชน์จากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ให้ราคาเหมาะสม 39 บาท แนะนำ "ซื้อ"
-----------------------------------------------------------------------

อังคาร 31 ก.ค.2555--BANK :
ที่มา : Trade Flash : บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป

กลุ่มธนาคาร - BANK กำไร 1H55 ของกลุ่ม BANK เติบโต 15.9% y-y
ภาพรวมอุตสาหกรรม

     ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งที่ทางฝ่ายทำการวิเคราะห์ มีสินทรัพย์และเงินฝากรวม คิดเป็นราว 94% และ 96% ของยอดรวมตามลำดับ
     * ธนาคาร 11 แห่งมีกำไรสุทธิประจำไตรมาส 2 2555 จำนวน 44.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% q-q, 23.7% y-y โดยทุกธนาคารเว้นแต่ CIMBT และ SCB มีกำไรเติบโตทั้ง q-q, y-y
     * กำไรสุทธิงวด 6 เดือนขยายตัว 15.9% y-y มาสู่ 85.63 พันล้านบาท นำโดย LHBANK +46.1%, KBANK +36.7%, KTB +27.9%, BAY +23.3% และ BBL +22.2%
     * ทางฝ่ายคงแนะนำ "ลงทุนมากกว่าปกติ" สำหรับกลุ่มธนาคาร โดยธนาคาร Top Pick ได้แก่ BBL, KBANK และ SCB
ประเด็นข่าว ?
     กำไรสุทธิรวมของ 11 ธนาคารพาณิชย์ไทยใน 2Q55 มีจำนวน 44.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% q-q, 23.7% y-y โดยทุกธนาคารเว้นแต่ CIMBT และ SCB มีกำไรเติบโตทั้ง q-q, y-y รายดอกเบี้ยสุทธิ ขยายตัว 6.2% q-q, 10.8% y-y ตามการเติบโตของสินเชื่อขณะ NIM เห็นการฟื้นตัวจาก Loan yield ปรับขึ้นขณะ Cost of fund อ่อนตัวลง รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มขึ้น 5.7% q-q, 10.0% y-y ขณะรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยอื่นปรับสูงขึ้นเช่นกันจากธุรกิจประกัน, กำไร FX รวมถึงกำไรเงินลงทุน ด้าน OPEX ขยับขึ้น 6.6% q-q, 12.6% y-y หากรายได้ที่ขยายตัวส่งผลให้อัตรา Cost/Income ขยับขึ้น 0.7% q-q มาที่ 46.4% ขณะเทียบ y-y ปรับลงเล็กน้อยราว 0.5% ในส่วนของ Effective Tax Rate นั้นปรับลงมาที่ 18.8% เทียบ 26.4% q-q, 21.8% y-y ขณะสำรองปรับขึ้น 16.1% q-q, 20.7% y-y จากการที่หลายธนาคารมี Prudent Provisioning Policy
     สำหรับกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรก 2555 มีจำนวน 85.63 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% y-y นำโดย LHBANK +46.1%, KBANK +36.7%, KTB +27.9%, BAY +23.3% และ BBL +22.2% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 11.8% y-y ขณะรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ โต 7.4% และ 6.4% ตามลำดับ อัตรา Cost/Income ค่อนข้างทรงตัวที่ 46.2% แม้ OPEX เพิ่มขึ้น 10.3% จากฐานรายได้ที่ขยายตัว ด้าน Effective Tax Rate ปรับลงมาที่ 20.8%เทียบ 25.7% y-y ตามนโยบายลดอัตราภาษีจ่ายภาครัฐจาก 30% มาที่ 23% ในปี 2555 ในส่วนของสำรองนั้นปรับขึ้น 15.5% จากผลกระทบน้ำท่วม รวมถึงความกังวลต่อภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ
ความเห็น ?
     เปรียบเทียบกับประมาณการของฝ่ายแล้ว กำไรของ 7 ธนาคารที่ทางฝ่ายทำ Preview (BAY, BBL, KBANK, KTB, SCB, TCAP, TMB) มีกำไรสุทธิจำนวน 42.42 พันล้านบาท สูงกว่าที่ทางฝ่ายคาดไว้ที่ 39.83 พันล้านบาท ราว 6.5% โดยธนาคารที่มีผลกำไรสูงกว่าคาดได้แก่ BBL, KBANK, KTB และ TCAP
     สินเชื่อโดยรวมนับว่าขยายตัวได้ตามเป้า และมีบางธนาคารเช่น SCB ที่ได้ปรับเป้าเพิ่มสูงขึ้น ทางฝ่ายคงมุมมองบวกต่อความต้องการสินเชื่อในช่วงเวลาที่เหลือของปี สนับสนุนโดยการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงสินเชื่อรายย่อยในส่วนของเช่าซื้อและ Mortgage เป็นหลัก สำหรับการแข่งขันด้านเงินฝากคาดส่งผลต่อต้นทุนการเงิน หากรายได้ที่เติบโตคาดทำให้กำไรกลุ่มธนาคารในปี 2555 ยังเติบโตได้ดี
คำแนะนำการลงทุน ?
     ทางฝ่ายคงคำแนะนำ "ลงทุนมากกว่าปกติ" สำหรับกลุ่มธนาคาร โดยมีหุ้น Top Pick ได้แก่ BBL, KBANK และ SCB
-----------------------------------------------------------------------

อังคาร 24 เม.ย.2555--BANK :
ที่มา : Industry Update : บล.เกียรตินาคิน

Banking Sector
Industry : Financials
น้ำหนักการลงทุน: Overweight
       กลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/55 รวมกัน 40,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105%QoQ และ 9% YoY เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ย รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น และมีการตั้งสำรองลดลง ผลประกอบการของธนาคารฯส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าที่ทั้งเราและตลาดคาดการณ์ และมีหลายธนาคารที่ทำกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในไตรมาสนี้ทุกธนาคารมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลัก และเรายังคาดว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารจะยังคงเติบโตต่อเนื่องได้ จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก เราจึงแนะนำให้เน้นลงทุนในธนาคารขนาดใหญ่ เลือก KBANK และ SCB เป็นหุ้น Top pick
กลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/55 เพิ่มขึนถึง 105%QoQ และ 9%YoY
       กลุ่มธนาคาร 9 ธนาคารที่เราทำการศึกษารายงานผลประกอบการไตรมาส 1/55 มีกำไรสุทธิรวมกัน 40,439 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะดีกว่าที่เราและตลาดคาด เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนทุกธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งหมด และหลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไม่ว่าจะเป็น BAY BBL KBANK KTB และ LHBANK โดยกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนถึง 105%QoQ เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมที่ดีขึ้นหลังจากไตรมาสก่อนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้แล้วการกลับมาตั้งสำรองตามปกติทำให้ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองลดลงจากไตรมาสก่อนที่หลายธนาคารมีการตั้งสำรองสูงมาก เพื่อรองรับผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากน้ำท่วม เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/54 กำไรสุทธิในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 9%QoQ โดยรายได้ดอกเบี้ยยังคงเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับรายได้ค่าธรรมเนียมก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ในไตรมาสนี้มีเพียง SCB และ TMB ที่มีผลประกอบการลดลง แต่หากหักกำไรพิเศษของ SCB ที่ได้รับจากการเข้าซื้อหุ้น SCB LIFE แล้ว SCB จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 29%YoY และทำให้กลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 26%YoY
คาด KTB มีกำไรเพิ่มขึ้นมากที่สุด QoQ ส่วน LHBANK จะเด่นที่สุด YoY
       KTB เป็นธนาคารที่มีกำไรเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกำไรไตรมาส 4/54 โดยเพิ่มขึ้นถึง 708%QoQ เนื่องจากการกลับมาตั้งสำรองในระดับปกติที่ 1.5 พันล้านบาท หลังจากในไตรมาส 4/54 KTB เป็นธนาคารที่มีการตั้งสำรองมากที่สุดในกลุ่มถึง 7.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 790 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/54 LHBANK เป็นธนาคารที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นโดดเด่นที่สุด 54%YoY เนื่องจากทั้งรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้นตามขนาดธุรกิจ นอกจากนี้ LHBANK ยังมีการตั้งสำรองลดลงจากเดิมที่มีการตั้งไตรมาสละ 53 ล้านบาท ลงเหลือเพียง 38 ล้านบาท
สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดย LHBANK เป็นธนาคารที่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดดเด่นที่สุด
       กลุ่มธนาคารมีสินเชื่อในไตรมาส 1/55 เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2554 ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้น 3% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินเชื่อตามวัฎจักรการลงทุนใหม่ (CAPEX Cycle) และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นตามยอดขายรถยนต์หลังจากฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วม โดย LHBANK เป็นธนาคารที่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดดเด่นที่สุด โดยมีสินเชื่อเพิ่มขึ้นถึง 8.2% ซึ่งทำให้ LHABNK เป็นธนาคารเดียวในไตรมาสนี้ที่เราปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2555 ขึ้นเป็น 20% จากเดิมคาดไว้ที่ 15% ส่วน KBANK และ TMB มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.8%
หลายธนาคารเริ่มมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดีขึ้น แต่ BBL และ KBANK มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มยังคงลดลง
       ในไตรมาส 4/54 กลุ่มธนาคารนั้นมีการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ผลตอบแทนสินเชื่อลดต่ำลง ในขณะที่ต้นทุนเงินฝากยังคงเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันกันระดมเงินฝาก ส่วนในไตรมาสนี้สินเชื่อที่เติบโตขึ้น ภาวะน้ำท่วมคลี่คลายไป และต้นทุนดอกเบี้ยนั้นเริ่มคงที่ทำให้หลายธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับตัวดีขึ้น โดยมีเพียง BBL KBANK และ LHBANK โดย BBL และ KBANK ที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากยังมีการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ และการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ผลตอบแทนสินเชื่อยังคงลดลง ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 1/55 ลดต่ำลงเหลือ 3.07% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 3.09%
ยังให้น้ำหนักการลงทุน "มากกว่าตลาด" เลือก KBANK และ SCB เป็นหุ้น Top pick
       เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุนของหุ้นในกลุ่มธนาคาร "มากกว่าตลาด" และแนะนำให้ลงทุนในธนาคารขนาดใหญ่ อย่าง BBL KBANK และ SCB เนื่องจากมองว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จะยังคงเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโตขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และธนาคารขนาดใหญ่นั้นจะมีข้อได้เปรียบที่จะรองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ดีกว่าธนาคารขนาดเล็ก เราเลือก KBANK และ SCB เป็นหุ้น Top pick โดยให้ราคาเหมาะสม KBANK ไว้ที่ 175 บาท และให้ราคาเหมาะสม SCB 166 บาท
-----------------------------------------------------------------------
พฤหัสฯ 5 ม.ค.2555--BANK :
Industry Update : บล.เกียรตินาคิน

Banking Sector
Industry : Financials
น้ำหนักการลงทุน: Overweight
        ความพยายามที่จะลดหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูของ กระทรวงการคลังอาจจะใช้วิธีเพิ่มเงินสมทมสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 0.1% จะทำให้กลุ่มธนาคารมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 6.7 พันล้านบาท หรือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่า BBL จะเป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และจะทำให้ธนาคารพาณิชย์หันไประดมทุนผ่าน B/E เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคารเพิ่มมากขึ้น อาจจะมีการเก็งกำไรการขายหุ้นของ KTB เพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯได้ในระยะนี้ ถึงแม้ว่าแนวทางในการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูนี้ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มาก แต่เรายังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร "มากกว่าตลาด" และเลือก KTB และ TISCO เป็นหุ้น Top pick
ก.คลังมีความพยายามที่จะจัดการกับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู โดยอาจจะใช้เงินจากสถาบันประกันเงินฝาก
        กระทรางการคลังมีความพยายามที่จะจัดการกับหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูที่ในขณะนี้มีหนี้เงินต้นคงค้างอยู่ประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท และมีดอกเบี้ยคงค้างอยู่ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ในส่วนของเงินต้นยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการ แต่ในส่วนของดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้ที่ กระทรวงการคลังอาจจะใช้เงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากส่วนหนึ่ง และ อาจจะเรียกเก็บจากค่าธรรมเนียมของ ธนาคารพาณิชย์อีกส่วนหนึ่งในการชำระคืน
การเพิ่มเงินสมทบสภาบันประกันเงินฝากทุก 0.1% จะทำให้ค่าใช้จ่ายของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 6.7 พันล้านบาท
        ในขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากในอัตราส่วน 0.4% ของเงินฝากถั่วเฉลี่ย และ ตาม พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากอัตราส่วนดังกล่าวสามารถปรับขึ้นได้ไม่เกิน 1% โดยเมื่อคำนวณจากเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 3/54 หากเงินสมทบนี้เพิ่มขึ้นทุก 0.1% จะทำให้กลุ่มธนาคารมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น 6.7 พันล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าไม่มากนัก โดยธนาคารที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากมาก โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/54 BBL เป็นธนาคารที่มีปริมาณเงินฝากมากที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถึง 1.56 ล้านล้านบาท
การเพิ่มเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากอาจจะทำให้ ธ.พ. หันไประดมเงินผ่าน B/E เพิ่มมากขึ้น
        ในการแข่งขันกันระดมเงินในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ใช้ B/E เป็นอีกช่องทางในการระดมเงิน จะเห็นได้ว่า B/E มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด เนื่องจาก B/E ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำให้ ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ และทำให้จ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกค้าได้สูงกว่าเงินฝากปกติ ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ฝากเงินมาก
การควบคุม B/E ของ กลต. จะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยของ ธ.พ. เพิ่มขึ้น
        เงินฝากในรูปแบบของ B/E ที่เพิ่มสูงขึ้นมากทำให้หลายหน่วยงานออกมาแสดงความกังวลกับผู้ฝากเงินในเรื่องที่เงินฝากที่ระดมผ่าน B/E จะไม่ได้รับความคุ้มครอง ทำให้ล่าสุด กลต. อาจจะออกเกณฑ์การควบคุม B/E ให้ระดมเงินต่ำสุดที่10 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมขั้นต่ำอยู่เพียง 1 แสนบาท ซึ่งเรามองว่าหากมีการเพิ่มระดับเงินสมทบเข้ากองทุนสถาบันประกันเงินฝาก ประกอบกับการควบคุมการออก B/E จะทำให้ ธนาคารพาณิชย์ไปแข่งขันกันระดมเงินผ่านการออก B/E ในวงเงินสูง ๆ ซึ่งปกติก็ให้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยของ ธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นได้อีก
ธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากวงเงินสูง อาจได้เปรียบในการแข่งขันกันระดมเงินผ่าน B/E
        จากเดิมที่หลายหน่วยงานมีความตั้งใจในการควบคุมการออก B/E และแนวทางหนึ่งในการควบคุมคือการจำกัดสัดส่วน B/E จากแหล่งเงินทุนทั้งหมด ทำให้ธนาคารที่มีสัดส่วนการระดมเงินผ่าน B/E มากๆ อย่างเช่น TISCO อาจจะได้รับผลกระทบมากในการลดสัดส่วน B/E ลง แต่เกณฑ์ของ กลต. ที่จำกัดเฉพาะวงเงินของลูกค้า และความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการเพิ่มวงเงินสมทบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะทำให้ ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันระดมเงินผ่าน B/E ในวงเงินสูงๆเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรามองว่าธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากวงเงินสูง ๆ อยู่แล้ว อย่าง TISCO อาจจะได้เปรียบธนาคารอื่นอยู่บ้างในการแข่งขันนี้
อาจจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจาก ธนาคารพาณิชย์เพื่อลดดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู
        วิธีการลดดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อีกวิธีหนึ่งที่มีการพูดถึงกันก่อนหน้านี้คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจาก ธนาคารพาณิชย์ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า กระทรวงการคลังจะเรียกเก็บเงินส่วนนี้เป็นจำนวนเท่าไร แต่เราประเมินว่าหากเรียกเก็บจากรายได้ค่าธรรมเนียมของ ธนาคารพาณิชย์จะทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เนื่องจากธนาคารขนาดใหญ่มีปริมาณรายได้ค่าธรรมเนียมมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก โดยใน 9 เดือนที่ผ่านมา KBANK เป็นธนาคารที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมากที่สุด 6.1 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าดูสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมกับรายได้รวม BBL จะเป็นที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสูงที่สุดที่ 21% เรามองว่าธนาคารพาณิชย์ สามารถผลักภาระส่วนนี้ไปให้กับลูกค้าได้ แต่อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บเงินนี้ของกระทรวงการคลังจะทำให้ค่าใช้จ่ายของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะทำให้ลูกค้าเลือกที่จะไปใช้บริการธนาคารที่คิดค่าบริการถูกกว่า หรืออาจจะเลือกที่จะลดการใช้บริการบางอย่างของธนาคารลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ลดลงได้
อาจจะมีการเก็งกำไรการขายหุ้น KTB เพื่อชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู ฯ
        ในขณะนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTB โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 55.2% และกองทุนฟื้นฟูฯมีความตั้งใจมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน KTB ลง ซึ่งในขณะนี้มีประเด็นเกี่ยวกับความพยายามในการลดหนี้ของกองทุนพื่อการฟื้นฟูฯลง ทำให้เราคาดว่าอาจจะมีการเก็งกำไรเกี่ยวกับการขายหุ้นของ KTB ออกไปเพื่อลดหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้
ยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร "มากกว่าตลาด" เลือก KTB และ TISCO เป็นหุ้น Top pick
        ถึงแม้ว่าในขณะนี้กลุ่มธนาคารจะมีความเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุน "มากกว่าตลาด" เนื่องจากเรายังคาดว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารจะยังคงเติบโตต่อเนื่องได้ในปี 2555 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ในการขยายการลงทุน และเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เรายังมองว่าธนาคารขนาดใหญ่มีความน่าสนใจลงทุนมากกว่า เนื่องจากจะสามารถรองรับความต้องการสินเชื่อของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ได้มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เราเลือก KTB และ TISCO เป็นหุ้น Top pick เนื่องจากมองว่า KTB น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากรัฐบาล และอาจจะมีการเก็งกำไรเกี่ยวกับการขายหุ้นของ KTB ให้ราคาเหมาะสม KTB ไว้ที่ 16.80 บาท และ TISCO เป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากดอกเบี้ยขาลง และมีเงินปันผลสูง ให้ราคาเหมาะสม 47 บาท
-----------------------------------------------------------------------
พุธ 4 ม.ค.2555--Banking :
Analyst Comment : Banking : บล.เกียรตินาคิน

Banking
        กระทรวงการคลังอาจจะให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อจ่ายคืนดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟู ฯ
น้ำหนักการลงทุน    Overweight (มากกว่าตลาด)
นักวิเคราะห์       อดิสรณ์ มุ่งพาลชล  (โทร. 2937)
ประเด็นสำคัญ     
        กระทรวงการคลังได้มีแนวทางการจ่ายคืนดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะแก้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยจะนำเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีอยู่ 3 หมื่นล้านบาท มาชำระดอกเบี้ยกองทุนฟื้นฟูฯ ส่วนที่ขาดอีก 1.5 หมื่นล้านบาท จะแก้กฎหมายให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งค่าธรรมเนียมให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จากเดิมนำส่งเฉพาะ 0.4% ของเงินฝาก
ความเห็นนักวิเคราะห์      
 
        * ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเรียกเก็บ แต่เราคาดว่าธนาคารขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบมากกว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่า ก.คลังจะเรียกเก็บเงินส่วนนี้เป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่เราประเมินว่าหากเรียกเก็บจากรายได้ค่าธรรมเนียมของ ธ.พ. จะทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เนื่องจากธนาคารขนาดใหญ่มีปริมาณรายได้ค่าธรรมเนียมมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก โดยใน 9 เดือนที่ผ่านมา KBANK เป็นธนาคารที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมากที่สุด 6.1 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าดูสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมกับรายได้รวม BBL จะเป็นที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมสูงที่สุดที่ 21%
        * ธนาคารสามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้ แต่จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เรามองว่าธนาคารสามารถผลักภาระส่วนนี้ไปให้กับลูกค้าได้ แต่อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บเงินนี้ของกระทรวงการคลังจะทำให้ค่าใช้จ่ายของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะทำให้ลูกค้าเลือกที่จะไปใช้บริการธนาคารที่คิดค่าบริการถูกกว่า หรืออาจจะเลือกที่จะลดการใช้บริการบางอย่างของธนาคารลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารลดลงได้
        * ยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร "มากกว่าตลาด" เลือก KTB และ TISCO เป็นหุ้น Top pick เรายังมองว่าธนาคารขนาดใหญ่มีความน่าสนใจลงทุนกว่า เนื่องจากจะสามารถรองรับความต้องการสินเชื่อของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นสินเชื่อหลักที่ทำให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโตได้ในปี 2555 ได้มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เราเลือก KTB และ TISCO เป็นหุ้น Top pick เนื่องจากมองว่า KTB น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากรัฐบาล ให้ราคาเหมาะสม KTB ไว้ที่ 16.80 บาท และ TISCO เป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากดอกเบี้ยขาลง ให้ราคาเหมาะสม 47 บาท
-----------------------------------------------------------------------