P/E Ratio คืออะไร?
        P/E เป็นคำเรียกสั้นๆ ของ Price to Earnings Ratio อัตราส่วนราคาต่อกำไร หรือเรียกย่อๆ ว่า ค่า P/E ซั่งมาจาก Price (P) ก็คือ ราคาหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ที่ผู้ลงทุนต้องการจะลงทุน , Earnings (E) ก็คือ กำไรต่อหุ้นของหุ้นตัวนั้น ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการทำกำไร
 
        P/E ratio เป็นการนำเอา Price มาหารด้วย Earnings ผลลัพธ์ที่ออกมาจะแสดงค่าเป็นจำนวน "เท่า (time)" ค่า P/E ratio ใช้ประโยชน์ในการวัดความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง
 
        ยกตัวอย่างเช่น
        ถ้าหุ้นตัวหนึ่งราคา (P) 10 บาท และมีกำไรต่อหุ้น (E) 1 บาท ดังนั้นค่า P/E = 10 ซึ่งจะแปลความหมายได้ว่า ถ้าเราซื้อหุ้นบริษัทนี้เราจะต้องจ่ายเงินไปล่วงหน้าถึง 10 เท่า หรือต้องรอให้บริษัททำกำไรคืนให้เราสิบเท่า ถ้าหากว่าบริษัทนั้นทำกำไรปีละ 1 บาท ไปเรื่อยๆ เราต้องรอถึงสิบปี หลังจากสิบปีไปแล้วเราถึงจะได้กำไร หรือคืนทุนใน 10 ปีนั่นเอง แต่ถ้าหากว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้รวดเร็วขึ้น เราอาจไม่ต้องรอถึงสิบปีก็ได้        ทีนี้ถ้าค่า P/E Ratio เท่ากับ 6 เท่า ก็เท่ากับว่าเราจะคืนทุนใน 6 ปีและหลังจากนั้นเราจะได้กำไรแล้ว แต่แล้วเรามองอย่างนี้ก็ไม่เห็นว่ามันจะบอกอะไรเรามาก แต่อัตราส่วนนี้จะบอกเราได้ว่าหุ้นที่เราซื้อนี่ถูกหรือแพง เช่น หุ้นที่มี P/E = 10 จะแพงกว่าหุ้นที่ P/E = 6 ไม่ใช่แค่ว่ารอนานกว่ากันเท่านั้น แต่หุ้นที่มี P/E ต่ำกว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น หุ้น P/E = 10 จะให้ผลตอบแทนคาดหวังเท่ากับ 10% แต่หุ้นที่มี P/E = 6 จะให้ผลตอบแทน 16.67% ดังนั้นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมหุ้น P/E ต่ำจึงถูกกว่าหุ้น P/E สูง

        ถ้าหุ้นของบริษัท X มีค่า P/E ต่ำ หมายความว่า หุ้นของบริษัท X ยังมีราคาต่ำอยู่มาก เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัท X ผู้ลงทุนจึงมีความเสี่ยงต่ำกว่าในการลงทุนในหุ้นบริษัท X
ในทางตรงกันข้าม ถ้าหุ้นของบริษัท Y มีค่า P/E สูง หมายความว่า หุ้นของบริษัท Y มีราคาสูงเกินไป เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัท Y เอง ผู้ลงทุนจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าในการลงทุนในหุ้นของบริษัท Y 


        ผู้ลงทุนที่รอบคอบมักจะพิจารณาค่า P/E ของหุ้นที่จะลงทุนเป็นสำคัญ และจะเลือกลงทุนในหุ้นที่มี P/E ต่ำกว่า หรือถ้าหากจะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีค่า P/E สูง ก็ต้องมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า Earnings ของบริษัทนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต และทำให้ค่า P/E ต่ำลงในที่สุด
 
        เวลาจะลงทุนซื้อหุ้นก็ควรพิจารณาค่า P/E Ratio ด้วย มิเช่นนั้นอาจได้หุ้นที่ P/E = 30 เท่า หรือให้ผลตอบแทนคาดหวังเพียง 3.33% และมีความเสี่ยงที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ
 

        หุ้นที่มี P/E สูงๆ นั้นจะบอกให้เราทราบได้สองอย่าง คือ หุ้นนั้นแพงมากๆ อาจเป็นเพราะนักลงทุนกำลังไล่ซื้อหุ้นนั้น เพราะมีข่าวดีของบริษัท หรือกิจการของบริษัทนั้นเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีอนาคตที่สดใสมากๆ อย่างแรกนั้นค่อนข้างอันตราย เพราะความไม่แน่นอนของข่าวสูงมาก แต่สุดท้ายราคาก็ปรับตัวเข้าหาพื้นฐานที่แท้จริงในที่สุด ส่วนกรณีหลัง เราในฐานะนักลงทุนต้องตรวจสอบผลประกอบการ ตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าการเติบโตที่ว่านั้นจริงหรือไม่
 

        สำหรับหุ้นที่ P/E ต่ำนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า หุ้นนั้นๆ ถูกทีเดียวเลย ถ้าหุ้นนั้นมี P/E ต่ำก็จริง แต่บริษัทไม่มีการเติบโตเลย หุ้นบริษัทนั้นก็ไม่จัดว่าถูก แต่ถ้ามีการเติบโตดีแต่ยังไม่มีใครให้ความสนใจอยู่ นั่นก็เป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน บางบริษัท P/E ต่ำแต่ค่า P/B สูงมากอันนี้ต้องระวังเช่นกัน เพราะเราซื้อสินทรัพย์ที่เอามาสร้างผลกำไรในอัตราที่สูงมากเกินไปหรือเปล่า เช่น P/B = 4 เท่า นั่นคือถ้าเราต้องการสร้างธุรกิจนี้เองเราจ่ายแค่ 1 แต่ถ้าต้องการซื้อธุรกิจของบริษัทนี้เราต้องจ่ายเงินสูงถึงสี่เท่า ถ้าเป็นธุรกิจที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขันที่คงทน ไม่ขึ้นลงเป็นรอบๆ ก็น่าสนใจ
 

        เราอาจจะใช้ P/E ควบคู่ไปกับ P/B เพื่อค้นหาหุ้นที่ถูกในเชิงตัวเลขก่อนก็ได้ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยนั่นคือ เราต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของกิจการให้ลึกซึ้งอยู่ดี เราจะได้เข้าใจถึงอัตราการเติบโตที่แท้จริง เข้าใจว่าในระยะเวลาที่เรากำลังรอให้บริษัททำกำไรจนคืนเงินทุนที่เราลงไปได้นั้น บริษัทจะมีความแข็งแกร่งพอที่จะทำกำไรคืนให้เรา หรือมีกำไรตอบแทนให้เรามากกว่าที่คาดเอาไว้
 
        ความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม อาจแสดงด้วยค่า P/E ของตลาดรวมก็ได้ นั่นก็คือการนำเอาค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นทั้งหมดในตลาดหุ้นมาหารด้วยค่าเฉลี่ยของกำไรต่อหุ้นของหุ้นทุกตัวในตลาดหุ้น เราก็จะได้ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทย ซึ่งในปัจจุบัน ค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยยังคงต่ำกว่าค่า P/E ของตลาดหุ้นหลักๆ ในภูมิภาคนี้อยู่มาก ซึ่งก็หมายความว่า ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ตลาดหุ้นไทยยัง "ถูกกว่า" ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคนี้นั่นเอง.