-----------------------------------------------------------------------
พฤหัสฯ 20 ต.ค.2554--Electronics Sector :
ที่มา : News update : บล.ธนชาต

Electronics Sector  - Underweight  News update
ปัจจัยเสี่ยงจากเหตุการณ์น้ำท่วม

     โรงงาน HANA SMT และ CCET ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
     SMT ได้รับความเสียหายมากที่สุดเนื่องจากมีโรงงานเพียงแห่งเดียว
     SVI อยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นเดียวกัน
     มี Downside risks ต่อประมาณการของเรา คงคำแนะนำ "น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาด"
ประเด็นสำคัญ:
     เหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เราทำบทวิเคราะห์ทั้ง HANA, SMT และ CCET โรงงานของ HANA ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่โรงงาน SMT ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน สำหรับ CCET มีบริษัทย่อยตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ส่วน SVI อยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างเสี่ยง แต่ยังไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม
ผลกระทบ :
    * ไม่ใช่แค่โรงงานจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ยังรวมถึงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โรงงานของทั้ง HANA และ SMT จำเป็นต้องปิดการดำเนินงาน และคาดจะต้องใช้เวลากว่า 4 เดือน จึงจะสามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ
    * แต่อย่างไรก็ตาม เราคาด SMT จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท บริษัท Western Digital (WD) โรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน SMT ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ทั้งนี้โรงงาน WD ได้รับความเสียหายเช่นกันจากเหตุการณ์น้ำท่วม สัดส่วนรายได้จาก WD คิดเป็นประมาณ 80% ของรายได้ SMT และโรงงานของ SMT มีเพียงที่เดียวที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเท่านั้น
    * ถึงแม้ WD จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ CCET เช่นเดียวกัน แต่ CCET อยู่ในสถานะที่ดีกว่าหากเทียบกับ SMT เนื่องด้วย CCET มีโรงงานทั้งในมาเลเซีย มหาชัย และสมุทรปราการ ซึ่งน้ำยังไม่สามารถเข้าถึงได้และยังปลอดภัยดี ณ ปัจจุบัน โรงงานเหล่านี้เดินสายการผลิตเต็มกำลัง
    * ในขณะที่โรงงานของ SVI ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี สถานการณ์ล่าสุด น้ำยังไม่สามารถเข้าไปถึงได้ และบริษัทจะรอประเมินสถานการณ์อีก 1-2 วัน แต่ได้ทำการขนย้ายเครื่องจักรออกจากพื้นที่เสี่ยงประมาณ  30% ไปที่โรงงานที่แจ้งวัฒนะ
คำแนะนำ:
    * ขณะนี้ยังเร็วเกินไปกว่าจะสามารถสรุปและประเมินความเสียหายได้เนื่องจากยังไม่สามารถคาดได้ว่าน้ำจะลดลงเมื่อใด เราคงคำแนะนำ "น้ำหนัการลงทุนน้อยกว่าตลาด" ของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
    * เราคาดว่ามี downside risk ต่อประมาณการผลการดำเนินงานของเราสำหรับกลุ่มนี้

-----------------------------------------------------------------------
พุธ 5 ต.ค.2554--กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  :
ที่มา : INDUSTRY UPDATE : บมจ.หลักทรัพย์เอเชียพลัส

คำแนะนำการลงทุน                      น้อยกว่าตลาด
ดัชนีหมวด  : 569.68 จุด
มูลค่าตลาด : 63,060 ล้านบาท
ทิศทางกำไรกลุ่มฯ เข้าสู่ขาลงใน 4Q54 ส่วนปี '55 ยังมีหลายปัจจัยกดดัน
* ยอดขายชิ้นส่วนฯ ทั่วโลกเดือน ส.ค.54 ทรงตัว...ญี่ปุ่นเริ่มกลับมาผลิตเต็มที่

        Semiconductor Industry Association (SIA) รายงานยอดขาย Semiconductor ทั่วโลก ประจำเดือน ส.ค.54 เท่ากับ 25.03 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.7% mom แต่ลดลง 2.2% yoy ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงยอดขายแต่ละทวีปทั่วโลก พบว่ายอดขายในประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว (สัดส่วน 15% ของยอดขายรวมทั่วโลก) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.3% mom จึงช่วยพยุงให้ยอดขายชิ้นส่วนฯทั่วโลกทรงตัว ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ยอดขายในประเทศในทวีปสหรัฐฯ และยุโรปยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าธุรกิจกำลังจะย่างเข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกก็ตาม อีกทั้ง SIA เปิดเผยว่ายอดขายชิ้นส่วนฯ ในปัจจุบันที่ยังทรงตัวในระดับสูง เป็นผลจากความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลาย อาทิ อุปกรณ์แท็ปเล็ต และคอมพิวเตอร์ในกลุ่ม Consumer Product รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ใช้ในรถยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรปที่ชะลอตัว ซึ่งอาจกดดันต่อแนวโน้มยอดขายชิ้นส่วนฯ ทั่วโลกในปี 2555
* คาดกำไรกลุ่มฯ ใน 4Q54 ชะลอตัว ส่วนแนวโน้มปี 2555 ยังไม่ชัดเจน
        ฝ่ายวิจัยคาดกำไรสุทธิของกลุ่มชิ้นส่วนฯ ในงวด 3Q54 จะขึ้นทำระดับสูงสุดของปี และอ่อนตัวลงใน 4Q54 ภายหลังจากพ้นช่วงฤดูกาลส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นผลจากปัญหาหนี้สินสาธารณะที่อยู่ในระดับสูง จึงอาจทำให้แนวโน้มความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่จะปรับตัวลดลง และถือเป็นประเด็นเสี่ยงที่สำคัญต่อการปรับลดเป้าหมายยอดขายรวมของกลุ่มฯ ในปี 2555 ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายวิจัย ASP เกี่ยวกับความอ่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงของยอดขายรวมต่อกำไรสุทธิของกลุ่มชิ้นส่วนฯ พบว่าหากประมาณการยอดขายรวมของกลุ่มฯ ลดลง 1% จากเดิม จะทำให้กำไรสุทธิกลุ่มฯ ลดลง 2.1% ซึ่งหากพิจาณารายบริษัทแล้ว จะพบว่า CCET, KCE และ DELTA มีความเสี่ยงจากการดำเนินงานมากที่สุด เนื่องจากหากผู้ประกอบการดังกล่าวปรับลดเป้าหมายยอดขายรวมแล้ว จะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิมากที่สุด ดังแสดงในตารางหน้าถัดไป นอกจากนี้ แนวโน้มต้นทุนแรงงานที่จะปรับตัวสูงจากนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันต่ออัตรากำไรสุทธิของกลุ่มฯ ในปี 2554-55 ขณะที่นโยบายปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556 ไม่ได้ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯ ของไทย เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯ ของไทยส่วนใหญ่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (BOI) อยู่แล้ว ซึ่งเห็นได้จากอัตราภาษีจ่ายเฉลี่ยที่อยู่ในระดับต่ำ จึงไม่สามารถหักล้างกับปัจจัยลบจากการปรับขึ้นต้นทุนค่าแรงงานได้ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าผลกระทบเชิงลบจากนโยบายของภาครัฐดังกล่าว จะส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2555 ของกลุ่มชิ้นส่วนฯ จะลดลง 10.2% จากเดิม ซึ่งยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ
* แนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน...ไม่มีหุ้น Top pick ในกลุ่มชิ้นส่วนฯ
        ฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักการลงทุน น้อยกว่าตลาด สำหรับกลุ่มชิ้นส่วนฯ เนื่องจากยอดขายรวมของกลุ่มชิ้นส่วนฯ ส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ชะลอตัวในช่วง 2H54 และต่อเนื่องในปี 2555 รวมถึงแนวโน้มต้นทุนค่าแรงในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2555 ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงแนะนำให้ชะลอการลงทุนสำหรับหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ในระยะสั้น

-----------------------------------------------------------------------
พุธ 5 ต.ค.2554--กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  :
ที่มา : Sector Update : บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ - ETRON    ลงทุนปกติ
ยอดขายชิพตลาดโลกเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบเดือนก่อนหน้า
     - ยอดขายชิพตลาดโลกเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบ MoM แต่ลดลง 2.2% เทียบ YoY 
     - ความต้องการจากแทบเล็ตและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นตัวผลักดันการเติบโตของ ยอดขายชิพ ให้ยังขยายตัวได้ โดยตลาดญี่ปุ่นมีอัตราขยายตัวสูงสุดหลังสึนามิสิ้นสุดลง
     - ภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดียังกดดันต่อหุ้นกลุ่มชิ้นส่วน คงแนะนำ "ลงทุนปกติ" แนะนำ "ถือ" HANA และ SMT
ยอดขายชิพตลาดโลกเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบเดือนก่อนหน้า
     SIA รายงานยอดจำหน่ายชิพตลาดโลกเดือน ส.ค. ที่ 25.03 พันล้านเหรียญเพิ่มขึ้น 0.7% เทียบ MoM แต่ลดลง 2.2% เทียบ YoY จากยอดขาย 24.85 พันล้านเหรียญและ 25.60 พัน ล้านเหรียญ ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2554 ยอดขายเพิ่มขึ้น 2.2% 
แทบเล็ตและคอมพิวเตอร์ยังเป็นสินค้าผลักดันยอดขาย
     ยอดขายเดือน ส.ค. ยังขยายตัวได้จากความต้องการของกลุ่มแทบเล็ตและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามความต้องการที่ต่ำของกลุ่ม consumer และอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนที่มากของตลาด จะทำให้ภาพรวมของยอดขายต่ำกว่าที่คาดไว้ อีกปัจจัยที่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น MoM จากการฟื้นตัว ของญี่ปุ่นหลังสึนามิสิ้นสุดลงส่งผลให้ยอดขายในกลุ่มรถยนต์กลับ มาขยายตัวได้สูง
คงแนะนำ "ลงทุนปกติ"
     แม้ยอดขายเดือน ส.ค. จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหากเทียบ MoM แต่ทางฝ่ายยังมีมุมมองที่ดีต่อยอดขายในเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีสัดส่วนที่มากกว่า 50% ของยอดขายยังขยายตัวได้ราว 1% ทั้ง YoY และ QoQ ซึ่งยังเป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรม ขณะที่อเมริกาและยุโรปยอดขายชิพมีการชะลอ ตัวค่อนข้าง มากจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยลบที่จะกดดันต่อ ราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนให้ลดลงจากความ กังวลต่อตลาด
ทางฝ่ายคงแนะนำ "ลงทุนปกติ" แนะนำเพียง "ถือ" สำหรับ HANA และ SMT