ค่า ROE และ ROA

        ROE (Return on Equity)  เป็นตัวที่บ่งบอกถึงความสามารถของบริษัทในการนำเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นไปทำให้งอกเงยได้ในอัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งคำนวณจาก ROE = Net Income/Equity (กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้น) ค่า ROE นี้ยิ่งสูงยิ่งดี โดยนักลงทุนมืออาชีพจะมองหาหุ้นที่มีค่า ROE สูงกว่า 12-15% อย่างต่อเนื่องหลายๆ ปี

        โดยทั่วไปนักลงทุนจะเน้นและให้ความสำคัญไปที่ตัวเลขสำคัญอย่าง ROE  ซึ่งตัวเลขนี้วิธีดูก็ง่ายๆ คือยิ่งมากๆ ยิ่งดี  อย่างน้อย 12 % ขึ้นไปก็ถือว่าใช้ได้แล้ว  แต่ความจริงที่เราต้องดูละเอียดมากไปกว่านั้นก็คือ  ROE นั้น อาจจะสูงโดยเป็นการสูงแบบมีความเสี่ยง  หรือว่าอาจจะเป็นการสูงที่มีคุณภาพ  คือมาพร้อมกับการบริหารสินทรัพย์อย่างมีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย  ซึ่งนักลงทุนทั่วไปก็คงอยากได้อย่างหลังนี้มากกว่า

        หลักการก็คือ แหล่งที่มาของสินทรัพย์ของกิจการไม่ได้มาจากส่วนของผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว เราอย่าลืมหลักบัญชีพื้นฐานเรื่องงบดุลก็คือ แหล่งที่มาของสินทรัพย์ที่กิจการนำไปใช้นั้น ยังมีที่มาจากหนี้สินและส่วนของทุน  ดังนั้นค่า ROE ที่สูงมากๆ เราก็ต้องดูด้วยว่า กำไรสูงจริง หรือว่าส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำมาก แต่ดันมีหนี้สินมากมาย  อันนี้ก็ถือว่าเป็นกำไรที่ไม่มีคุณภาพ  ถ้าต้องเลือกหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง  ก็คงขอเลือกหุ้นที่มีหนี้สินน้อยๆ ดีกว่า น่าจะปลอดภัยกว่า
       
        ROA (Return On Assets) เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ของบริษัท โดยคำนวณจาก (ROA) = Net Income/Total Assets (กำไรสุทธิ/สินทรัพย์สุทธิ) โดยสินทรัพย์สุทธิของบริษัทนั้นประกอบด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและส่วนของหนี้สิน ค่า ROA นี้ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุน หากค่า ROA ของบริษัทต่ำกว่า 5% นักลงทุนมืออาชีพมักจะไม่ให้ความสนใจกับบริษัทนั้น

        ถ้า  ROA สูงขึ้นจริงและอาจเนื่องมาจากสินทรัพย์ด้อยค่าลงตามมูลค่าตลาด  หรืออาจโดนตัดค่าเสื่อมราคา อันนี้ก็ขอให้ทำเครื่องหมายมาร์คเกอร์เอาไว้ว่าบริษัทนั้นอาจกำลังบริหารงานได้แย่ลง  สินทรัพย์เริ่มไม่เกิดประโยชน์  ถึงแม้ว่าจะมองในแง่ดีได้ว่าสินทรัพย์ลดลงแต่ยังบริหารงานได้กำไรเท่าเดิมหรือดีขึ้น  แต่สำหรับนักลงทุนในระยะยาวบางท่านอาจมองว่า ในอนาคตอาจไม่เหลือสินทรัพย์ที่มีคุณภาพพอที่จะให้ทำกำไรอีกต่อไปก็ได้  และก็คงไม่ต้องพูดถึง ROA ที่มีค่าน้อยหรือมีค่าลดลงหลายๆ ปีติดต่อกัน  อันนี้ก็คงจะพอบ่งบอกได้ว่าบริษัทบริหารงานและสินทรัพย์ของกิจการได้ไม่ดีแน่ๆ

        หากนำค่า ROA และ ROE มาพิจารณาแล้วจะพบว่าอัตราส่วนทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันคือเป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัท จุดแตกต่างกันที่สำคัญของอัตราส่วนทั้งสองจะอยู่ที่หนี้สินของบริษัท เนื่องจาก Assets = Equity + Liabilities ดังนั้นจากสูตรการหาค่า ROE และ ROA จะเห็นว่าถ้าบริษัทไม่มีหนี้สินหรือ Liabilities มีค่าเท่ากับ 0 เราจะคำนวณค่า ROA ได้เท่ากับ ROE แต่หากบริษัทมีหนี้สินเยอะอาจทำให้ค่า ROA ที่ได้มีค่าต่ำในขณะที่ ROE มีค่าเท่าเดิม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรระวังหากพิจารณาเฉพาะค่า ROE ที่สูงๆ โดยไม่พิจารณาถึงหนี้สินของบริษัท

        ดังนั้นในการพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนในกิจการหรือหุ้นของบริษัทใดโดยดู ROE เป็นหลัก สิ่งที่ควรดูควบคู่ไปด้วยก็คือการ ROA  ดูว่าสินทรัพย์นั้นมีคุณภาพ หรือบริษัทนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือไม่  มีศักยภาพในการทำกำไรหรือไม่ หรือเพียงแค่ซื้อไว้ให้มูลค่าสินทรัพย์โตขึ้นเฉยๆ แต่ว่าไม่ใช้ประโยชน์ในระยะยาว ก็จะโดนตัดค่าเสื่อมเฉยๆ ตามระยะเวลาหรืออายุงานของสินทรัพย์นั้นๆ อยู่ดี  ในประเด็นของผู้ถือหุ้นหรือโครงสร้างหนี้  ก็คงต้องดูทั้งมูลค่าและอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในระดับปลอดภัยในระยะยาว และเพียงพอต่อการสร้างผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นให้เป็นที่น่าพอใจ  แค่นี้ก็น่าจะพอทำให้การวิเคราะห์งบการเงินของกิจการไม่เป็นการสุ่มเสี่ยง หรือตกหลุงพรางของบริษัทได้.